โครงการสมทบทุนการศึกษา “ส่งลูกอีสานเรียนฟรี”

หลักการและเหตุผล

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตวิชาชีพ เทคโนโลยีนวัตกรรม และบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาชุมชน สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ให้สังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีการบริหารงานที่โปร่งใสสอดคล้องกับนโยบายของ รัฐบาลให้ก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เป็นสถาบันทางวิชาการที่ให้ความรู้และความชำนาญ ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี  ให้บริการทางวิชาการแก่ท้องถิ่นและสังคม ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชน ทะนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และการกีฬา รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมของรัฐและท้องถิ่นและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น  เพื่อให้มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ก้าวทันต่อพลวัตทางการศึกษา สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ นโยบาย และทิศทางของการพัฒนาอุดมศึกษาตามกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี เพื่อเป็นการสร้างจุดเน้น (Focus) ของมหาวิทยาลัยที่สามารถต่อยอดไปสู่ความสำเร็จในอนาคต และมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการพลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาของประเทศไทย (Reinventing University System) ให้การจัดการศึกษามีสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์และพื้นที่ใกล้เคียง ในฐานะเป็นที่มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นพัฒนาเชิงกลยุทธ์เชิงพื้นที่และชุมชนท้องถิ่น (Area Based & Community Strategic Intent Universities) โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ “เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอันดับ 1 ของประเทศภายในปี 2570” เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา บูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นสำหรับพัฒนาประเทศต่อไป

ด้วยสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันที่ประสบปัญหากับโรคอุบัติใหม่คือ โควิด-19 (COVID-19) นั้น ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประเทศในหลายมิติอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวิถีชีวิตและการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งมีรายได้ปานกลางซึ่งเป็นการยากที่จะรับมือกับปัญหาดังกล่าว อีกทั้งในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่าเป็นยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกด้านอย่างฉับพลัน (Disruption) เดิมก็ส่งผลกระทบต่อดำรงชีวิตของประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น โควิด-19 จึงเป็นตัวเร่งอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความยากลำบากและทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนลดลง เนื่องจากประชาชนไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ต้องส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาต่อในอนาคต และยังมีผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นของบุตรหลานที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป ดังนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัด “โครงการส่งลูกอีสานเรียนฟรี” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ทุนการศึกษาแก่บุตรหลานชาวอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี ที่จะเข้ามาศึกษาในปีการศึกษา 2565 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครองในสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 อีกทั้งยังเป็นการเสริมแรงบวกให้อนาคตของชาติให้เข้าถึงการศึกษามากที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ที่มีผลการเรียนดี และครอบครัวมีรายได้น้อย (รายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 36,000 บาท/ปี)
2. เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
3. เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครอง เป็นเวลา 1 ปีการศึกษาของแต่ละหลักสูตร
4. เพื่อสนับสนุนให้มีการเข้าถึงการศึกษาให้มากขึ้น

กลุ่มเป้าหมาย
1. นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 8 หลักสูตร คุณสมบัติ:
• จบ ม.6/ปวช. หรือเทียบเท่า
• เกรดเฉลี่ย (GPA) ไม่ต่ำกว่า 2.50
• มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน)
• เกณฑ์รายได้ต่อครัวเรือน 36,000 บาท/ปี
• หรือ นักศึกษาที่อยู่ในความดูแลของบุพการีที่มิใช่บิดา-มารดา หรือผู้ที่ขาดเสาหลักของครอบครัว เช่น บิดาหรือมารดา เป็นต้น จะได้รับพิจารณาการยกเว้นตามข้อเกรดเฉลี่ย (GPA) ไม่ต่ำกว่า 2.50
2. นักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 12 หลักสูตร คุณสมบัติ:
• จบ ม.6/ปวช. หรือเทียบเท่า (สำหรับหลักสูตรปริญาตรี 4 ปี) หรือ
• จบ ปวส. หรือเทียบเท่า (สำหรับหลักสูตรเทียบโอน/หลักสูตรต่อเนื่อง)
• เกรดเฉลี่ย (GPA) ไม่ต่ำกว่า 2.5
• มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน)
• เกณฑ์รายได้ต่อครัวเรือน 36,000 บาท/ปี
• หรือ นักศึกษาที่อยู่ในความดูแลของบุพการีที่มิใช่บิดา-มารดา หรือผู้ที่ขาดเสาหลักของครอบครัว เช่น บิดาหรือมารดา เป็นต้น จะได้รับพิจารณาการยกเว้นตามข้อเกรดเฉลี่ย (GPA) ไม่ต่ำกว่า 2.50

ผลผลิต (Output)

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับทุนการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปีการศึษา (2 ภาคเรียน)

ผลลัพธ์ (Outcome)
• จำนวนนักศึกษาได้รับโอกาสทางการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อออกไปสร้างตนเองและอนาคต
• จำนวนนักศึกษาที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาด้านวิศวกรรมศาสตร์ สอดคล้องตามความต้องการของประเทศ First-S-Curve และ New-S-Curve